วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ย้อนอดีต Battle of Midway

เมื่อกล่าวถึงการรบทางทะเลที่พลิกโฉมหน้าการรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมรภูมิเอเชีย-แปซิฟิก  ย่อมต้องพูดถึงยุทธนาวี Midway ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามที่ชัดเจนที่สุดของสงครามระหว่างสัมพันธมิตรกับญี่ปุ่น เพราะเป็นการพ่ายแพ้ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับกองทัพเรือญี่ปุ่นจนต้องกลายเป็นฝ่ายตั้งรับและล่าถอยอย่างเดียว
            ย้อนกลับไปในปี 1942 ยุทธนาวี Midway เกิดขึ้นจากความจำเป็นของกองทัพญี่ปุ่นที่ต้องการกำจัดกองกำลังทางเรือของสหรัฐฯให้หมดไปจากภาคพื้นแปซิฟิก เพราะกองทัพเรือสหรัฐฯในวันนั้นคือภัยคุกคามเดียวที่ขวางกั้นญี่ปุ่นกับชัยชนะทางทะเลอย่างเด็ดขาดในภาคพื้นแปซิฟิก เราจะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการทำลายกองเรือของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกองเรือบรรทุกเครื่องบิน นับตั้งแต่วันแรกในการบุก Pearl Harbor ในปี 1941 เลย

            ในการบุกอ่าว Pearl Harbor นั้นแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นจะได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ด้วยการจมเรือประจัญบานของสหรัฐฯไปถึง 8 ลำ เครื่องบินรบอีก 188 ลำ แต่การโจมตี Pearl Harbor ครั้งนั้น ไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯสูญเสียแม้แต่ลำเดียว นี่คือสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับนายพลยามาโมโต แม่ทัพเรือญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะเขาต้องการที่จะกำจัดกองเรือทั้งหมดของสหรัฐฯในแปซิฟิก โดยเฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบิน

            แต่การรบระหว่างสัมพันธมิตรกับญี่ปุ่นในช่วงก่อนยุทธนาวี Midway ถือว่าญี่ปุ่นได้เปรียบทั้งกำลัง และประสบการณ์ของทหาร เห็นได้จากการชนะในการรบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นที่ Pearl Harbor มลายู ไทย และฟิลิปปินส์ แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังเสียเปรียบสหรัฐฯขึ้นเรื่อยๆ ก็คือความสามารถในการสร้างอาวุธของภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐฯที่กำลังผลิตอาวุธทุกชนิดเพื่อเอาชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างรวดเร็ว และเรื่องสำคัญอีกเรื่องก็คือข่าวกรอง ที่กองทัพสหรัฐฯสามารถถอดรหัสการสื่อสารของกองทัพญี่ปุ่นได้ โดยที่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่รู้ตัวเลย
            ก่อนการรบที่ Midway ประมาณ 1 เดือน ได้เกิดการรบครั้งใหญ่ที่บริเวณทะเลคอรัล(Battle of the Coral Sea) บริเวณออสเตรเลีย นิวกีนี และหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นเองไม่สงสัยเลยว่าทำไมกองทัพสหรัฐฯและออสเตรเลีย สามารถตั้งแนวรบรับการบุกของญี่ปุ่นได้ราวกับรู้ล่วงหน้า แม้ว่าการรบทีทะเลคอรัลจะสามารถชี้ขาดชัยชนะระหว่างทั้งสองฝ่ายได้เพราะต่างสูญเสียกำลังรบไปเท่าๆกัน แต่ญี่ปุ่นก็ต้องล่าถอยออกไปจากพื้นที่

            อย่างไรก็ตามการรบที่ทะเลคอรัลนั้นก็เป็นเพียงการหยั่งเชิงของกองทัพญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะแผนการจริงๆคือการบุก Midway ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของกองทัพสหรัฐฯที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามมากที่สุดต่อกองเรือญี่ปุ่นนั่นเอง แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นไม่รู้เลยก็คือสหรัฐฯเองก็รู้ถึงแผนการบุก Midway อยู่แล้ว
            การบุก Midway ครั้งนี้ญี่ปุ่นนำทัพโดยนายพลยามาโมโต มีทัพหน้านำโดยนายพลนากูโม ซึ่งเป็นแม่ทัพบุก Pearl Harbor มีเรือบรรทุกเครื่องบินถึง 4 ลำคือ เรือคากะ,โชโฮ,ฮิริว และโชริว พร้อมด้วยเรือประจัญบานอีก 2 ลำ เรือลาดตระเวน 2 ลำ และเรือพิฆาตอีก 12 ลำ นอกจากนี้ยังมีกองเรือลวงที่ประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน และกองเรือต่างๆอีกด้วย แต่สิ่งที่นายพลยามาโตยังคงกังวลก็คือแม้จะถึงวันบุก Midway แล้ว แต่ญี่ปุ่นยังไม่รู้เลยว่ากองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯอยู่ที่ไหน

            ด้านกองทัพสหรัฐฯ นำทัพโดยนายพลเรือ Chester Nimitz ผู้บัญชาการกองทัพเรือสหรัฐฯ พล.ร.อ.Frank Jack Fletcher พล.ร.อ. Raymond A. Spruance อย่างไรก็ตามกองกำลังที่ป้องกัน Midway นั้นมีเพียงเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ กองเรือจำนวนหนึ่ง เครื่องบินและฐานปืนต่อสู้อากาศยานบนเกาะ Midway เท่านั้น เพราะเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 2 ลำ และกองเรืออีกส่วนอยู่นอก Midway แล้ว ทำให้กำลังในการป้องกัน Midway จากการบุกระลอกแรกนั้นสหรัฐฯมีกำลังเพียง 1 ต่อ 4 เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น แถมนักบินของกองทัพสหรัฐฯยังด้อยประสบการณ์กว่ามาก

            แต่ด้วยข่าวกรองที่เหนือกว่า และญี่ปุ่นเองไม่คิดว่าสหรัฐฯจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินถึง 2 ลำที่กำลังรอจังหวะเข้าโจมตี ทำให้กองเรือญี่ปุ่นตกเป็นเป้านิ่งในช่วงสับเปลี่ยนกำลังเพื่อเข้าโจมตี Midway ระลอกที่สอง อีกทั้งการรายงานภาคสนามที่ผิดพลาดของญี่ปุ่นเองว่าสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯได้ 1 ลำ ทั้งที่เพียงแค่ได้รับความเสียหายอย่างหนักเท่านั้น สุดท้ายหายนะจึงเกิดกับกองทัพญี่ปุ่น การรบที่ Midway นั้นเกิดขึ้นเพียง 4 วัน คือวันที่ 4-7 มิถุนายน 1942 แต่ญี่ปุ่นก็ต้องพ่ายแพ้และเสียหายอย่างหนัก

            โดยผลจากยุทธนาวีที่ Midway นั้นกองทัพสหรัฐฯสามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้อย่างเด็ดขาด ฝ่ายญี่ปุ่นต้องสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำที่ใช้บุก Midway เครื่องบิน 248 ลำ พร้อมนักบินฝีมือเยี่ยม ทหารตาย 3,057 คน แม้แต่นายพลนากูโม ก็ยังบาดเจ็บสาหัสจนต้องออกจากการรบและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ เรือพิฆาต 1 ลำ เครื่องบิน 150 ลำ และทหารเพียง 307 คน


            การพ่ายแพ้ที่ Midway ทำให้กองทัพเรือญี่ปุ่นสูญเสียกำลังหลักของกองทัพเรือไป โดยไม่มีความสามารถในการสร้างอาวุธและกำลังทหารมาทดแทน ต่างจากสหรัฐฯที่ยังมีเรือบรรทุกเครื่องบิน และอาวุธจำนวนมากที่ถูกผลิตขึ้นทดแทนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว การบุกยึดออสเตรเลียของญี่ปุ่นเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป การรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องหยุดชะงัก ถูกผลักดันกลับจากการสูญเสียอำนาจทางทะเล และนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น