วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

เปิดแสนยานุภาพกองทัพโสมแดง : กองทัพบกเกาหลีเหนือ

หลายอาทิตย์มานี้คาบสมุทรเกาหลีนั้นมีความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากความพยายามทดลองขีปนาวุธข้ามทวีป(ICBM) ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รวมไปถึงการยืนกรานว่าจะเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านจากประเทศต่างๆทั่วโลก วันนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับกองทัพเกาหลีเหนือ ว่ามีแสนยานุภาพเป็นอย่างไร โดยวันนี้เราจะมาแนะนำกองทัพบกเกาหลีเหนือกัน

            กองทัพเกาหลีเหนือนั้น เรียกรวมกันว่า กองทัพบกแห่งประชาชนเกาหลี(Korean People's Army) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 1947 มีกำลังพลทั้งสิ้น 1,190,000 คน(ข้อมูลจากปี 2012) แยกย่อยออกเป็น 4 เหล่าทัพ ได้แก่ กองกำลังกองทัพบกภาคพื้นดิน กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และแรงงานเรดการ์ด

            วันนี้เราจะมาพูดถึงเหล่าทัพแรก หรือ กองกำลังกองทัพบกภาคพื้นดิน(Korean People's Army Ground Force) ก่อตั้งเมื่อ 20 สิงหาคม 1947 หรือ 69 ปีก่อน มีกำลังพลมากถึง 950,000 นาย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทางการสหรัฐฯรายงานไว้เมื่อปี 2013 ตัวเลขกำลังพลของกองทัพเกาหลีเหนือนั้น เรียกได้ว่ามากกว่ากองทัพบกสหรัฐฯถึง 2 เท่าทีเดียว(กองทัพบกสหรัฐฯมีกำลังทหารในประจำการประมาณ 460,000 นาย)

            นอกจากนี้กองทัพบกเกาหลีเหนือยังมีรถถังมากกว่า 5,500 คัน ซึ่งถือว่ามีจำนวนเยอะมาก  แต่ส่วนใหญ่อาวุธของกองทัพบกโสมแดงนั้นก็เป็นอาวุธยุคเก่า ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น โดยรถถังหลักที่ผลิตเองก็มีการพัฒนามาจากรถถังรุ่นเก่าของโซเวียตในอดีต เช่น รถถังหลักแบบ Pokpung-ho ถือเป็นรถถังรุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพบกเกาหลีเหนือเข้าประจำการครั้งแรกช่วงปี 1992 ถูกพัฒนาขึ้นมาจากรถถังรุ่นเก่าอย่าง T62 T72 Type88 ซึ่งเป็นรถถังรุ่นเก่าของโซเวียต และจีน ปัจจุบันเกาหลีเหนือน่าจะมีประจำการด้วยรถถังรุ่นนี้ประมาณ 200-500 คัน
รถถัง Pokpung-ho

            รถถังหลักแบบ Chonma-ho เข้าประจำการตั้งแต่ปี 1980 ถูกพัฒนามาจาก T62 ของโซเวียต กองทัพเกาหลีเหนือมีประจำการประมาณ 1,000 คัน นอกจากนี้ยังมีรถถังแบบ T62 อีก 800 คัน T55 อีกมากกว่า 1,600 คัน และยังมีรถถังรุ่นเก่า รวมถึงรถหุ้มเกราะอีกจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นอาวุธยุคเก่าช่วงสงครามเย็น หรือก่อนหน้านั้นเสียอีก
รถถัง Chonma-ho
 
รถถัง T62
 
รถถัง T55


            อาวุธอื่นๆ เช่น ปืนใหญ่ จรวด ปืนประจำกาย อาวุธต่อต้านอากาศยาน ต่อต้านรถถัง ล้วนแต่เป็นอาวุธในยุคโซเวียตแทบทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่รัฐบาลเกาหลีเหนือจะผลิตใช้เอง เนื่องจากขาดเงินสนับสนุนในการจัดซื้ออาวุธยุคใหม่ๆ



            ดังนั้นกองทัพเกาหลีเหนือในแง่แสนยานุภาพ และศักยภาพของกองทัพนั้น ถือเป็นกองทัพที่ค่อนข้างล้าสมัย อาจจะล้าสมัยไปเกือบ 30 ปีเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ที่น่ากลัวก็คือกำลังพล และจำนวนอาวุธที่มีค่อนข้างมาก และหากจะเทียบกับประเทศคู่สงครามอย่างเกาหลีใต้ ก็ต้องบอกว่าความทันสมัยของกองทัพนั้นต่างกันมาก เพราะแม้กองทัพบกเกาหลีใต้จะมีกำลังพลน้อยกว่า แต่อาวุธนั้นได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะระบบอาวุธต่อสู้รถถัง และต่อต้านขีปนาวุธ


            สรุปว่ากองทัพบกเกาหลีเหนือนั้น มีความน่ากลัวที่จำนวนกำลังพล และจำนวนอาวุธ แต่ก็ยังเป็นกองทัพที่มีโครงสร้าง และระบบอาวุธที่ล้าสมัยอยู่หลายสิบปี  หากย้อนกลับไปในช่วงสงครามเย็น ก็ต้องยอมรับว่าศักยภาพของกองทัพบกเกาหลีเหนือนั้นมีสูงมาก แต่ในปัจจุบันความแตกต่างเรื่องเทคโนโลยีเข้ามามีผลเป็นอย่างมาก ทำให้ปัจจุบันกองทัพบกเกาหลีเหนือไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามที่สร้างปัญหาให้กับกองทัพที่มีเทคโนโลยี และความทันสมัยสูงๆได้อีกแล้ว

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รู้จัก USS Missouri เรือประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

หลายคนที่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์สงคราม คงจะทราบกันดีว่าเรือรบ USS Missouri(BB-63) ถือว่าเป็นเรือรบที่มึความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเป็นเรือรบที่ใช้ในการลงนามยอมแพ้ ระหว่างญี่ปุ่นกับสัมพันธมิตร ซึ่งถือว่าเป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง       

  
            สำหรับเรือ USS Missouri นั้น นอกจากจะมีความสำคัญในประวัตศาสตร์อย่างที่กล่าวไปเบื้อต้นแล้ว ยังถือเป็นเรือประจัญบาน(Battleship) ในชั้น IOWA ซึ่งเป็นเรือประจัญบานชุดสุดท้ายของกองทัพสหรัฐฯที่มีการสร้างขึ้นอีกด้วย เนื่องจากสภาวะทางสงครามเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความจำเป็นในการใช้เรือประจัญบานลดลง สหรัฐฯจีงได้ยกเลิกการต่อเรือประจัญบานชั้น Montana ไป

            โดยเรือ USS Missouri นั้นเป็นเรือประจัญบานชั้น IOWA ซึ่งมีการต่อขึ้นมาทั้งหมด 4 ลำ จากตอนแรกวางแผนไว้ 6 ลำ เรือประจัญบานชั้น IOWA นั้นได้แก่ USS Iowa(BB-61) USS New Jersey(BB-62) USS Missouri(BB-63) และ USS Wisconsin(BB-64)
            บทบาทของเรือประจัญบานชั้น IOWA ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นถูกใช้เพื่อเป็นเรือคุ้มกันกองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ และป้องกันการบุกเข้าโจมตีของกองเรือญี่ปุ่น และในสงครามเกาหลีเรือประจัญบานรุ่นนี้ถูกใช้เป็นฐานยิงปืนใหญ่จากกลางทะเลเข้าถล่มเป้าหมายในเกาหลีเหนือ

            สำหรับเรือ USS Missouri นั้น เข้าประจำการครั้งแรกในวันที่ 11 มิถุนายน 1944 เข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมรภูมิแปซิฟิก ในการรบที่ Iwo Jima และ Okinawa ในวันที่ 2 กันยายน 1945 เรือ USS Missouri ถูกใช้เป็นสถานที่ลงนามในสัญญายอมแพ้สงครามของนาย มาโมรุ ชิเกมิสุ รองนายกฯญี่ปุ่นในขณะนั้น หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นขอยอมแพ้ เมื่อถูกระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่สอง

            หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือ USS Missouri ยังได้เข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีในช่วงปี 1950-1953 อีกด้วย ก่อนจะถูกปลดประจำการในวันที่  26 กุมภาพันธ์ 1955 และถูกจัดเก็บในฐานะกองเรือกำลังสำรองของกองทัพเรือสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเรือ USS Missouri ได้ถูกเรียกเข้าประจำการอีกครั้งในวันที่ 10 พฤษภาคม 1985 โดยมีการติดอาวุธนำวิถีสมัยใหม่ให้กับเธออีกด้วย ก่อนที่เธอจะได้เข้าร่วมรบอีกครั้งในสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1990 ซึ่งถือเป็นการรบครั้งสุดท้ายก่อนปลดประจำการในวันที่ 31 มีนาคม 1992

            ข้อมูลทั่วไปของเรือ USS Missouri : ระวางขับน้ำ 45,000 ตัน ความเร็ว 32 น็อต ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 406 มม. 9 กระบอก BMG-109 Tomahawk  และ RGM-84 Harpoon ได้อีกด้วย

            ปัจจุบันเรือ USS Missouri กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในฐานะเรือพิพิธภัณฑ์ ที่ Pearl Harbor โดยเธอได้เหรียญ Battle Stars ถึง 11 เหรียญ และปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่อง Battleships(2012) อีกด้วย 

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ย้อนอดีต Battle of Midway

เมื่อกล่าวถึงการรบทางทะเลที่พลิกโฉมหน้าการรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมรภูมิเอเชีย-แปซิฟิก  ย่อมต้องพูดถึงยุทธนาวี Midway ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามที่ชัดเจนที่สุดของสงครามระหว่างสัมพันธมิตรกับญี่ปุ่น เพราะเป็นการพ่ายแพ้ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับกองทัพเรือญี่ปุ่นจนต้องกลายเป็นฝ่ายตั้งรับและล่าถอยอย่างเดียว
            ย้อนกลับไปในปี 1942 ยุทธนาวี Midway เกิดขึ้นจากความจำเป็นของกองทัพญี่ปุ่นที่ต้องการกำจัดกองกำลังทางเรือของสหรัฐฯให้หมดไปจากภาคพื้นแปซิฟิก เพราะกองทัพเรือสหรัฐฯในวันนั้นคือภัยคุกคามเดียวที่ขวางกั้นญี่ปุ่นกับชัยชนะทางทะเลอย่างเด็ดขาดในภาคพื้นแปซิฟิก เราจะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการทำลายกองเรือของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกองเรือบรรทุกเครื่องบิน นับตั้งแต่วันแรกในการบุก Pearl Harbor ในปี 1941 เลย

            ในการบุกอ่าว Pearl Harbor นั้นแม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นจะได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ด้วยการจมเรือประจัญบานของสหรัฐฯไปถึง 8 ลำ เครื่องบินรบอีก 188 ลำ แต่การโจมตี Pearl Harbor ครั้งนั้น ไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯสูญเสียแม้แต่ลำเดียว นี่คือสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับนายพลยามาโมโต แม่ทัพเรือญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะเขาต้องการที่จะกำจัดกองเรือทั้งหมดของสหรัฐฯในแปซิฟิก โดยเฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบิน

            แต่การรบระหว่างสัมพันธมิตรกับญี่ปุ่นในช่วงก่อนยุทธนาวี Midway ถือว่าญี่ปุ่นได้เปรียบทั้งกำลัง และประสบการณ์ของทหาร เห็นได้จากการชนะในการรบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นที่ Pearl Harbor มลายู ไทย และฟิลิปปินส์ แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังเสียเปรียบสหรัฐฯขึ้นเรื่อยๆ ก็คือความสามารถในการสร้างอาวุธของภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐฯที่กำลังผลิตอาวุธทุกชนิดเพื่อเอาชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างรวดเร็ว และเรื่องสำคัญอีกเรื่องก็คือข่าวกรอง ที่กองทัพสหรัฐฯสามารถถอดรหัสการสื่อสารของกองทัพญี่ปุ่นได้ โดยที่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่รู้ตัวเลย
            ก่อนการรบที่ Midway ประมาณ 1 เดือน ได้เกิดการรบครั้งใหญ่ที่บริเวณทะเลคอรัล(Battle of the Coral Sea) บริเวณออสเตรเลีย นิวกีนี และหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นเองไม่สงสัยเลยว่าทำไมกองทัพสหรัฐฯและออสเตรเลีย สามารถตั้งแนวรบรับการบุกของญี่ปุ่นได้ราวกับรู้ล่วงหน้า แม้ว่าการรบทีทะเลคอรัลจะสามารถชี้ขาดชัยชนะระหว่างทั้งสองฝ่ายได้เพราะต่างสูญเสียกำลังรบไปเท่าๆกัน แต่ญี่ปุ่นก็ต้องล่าถอยออกไปจากพื้นที่

            อย่างไรก็ตามการรบที่ทะเลคอรัลนั้นก็เป็นเพียงการหยั่งเชิงของกองทัพญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะแผนการจริงๆคือการบุก Midway ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของกองทัพสหรัฐฯที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามมากที่สุดต่อกองเรือญี่ปุ่นนั่นเอง แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นไม่รู้เลยก็คือสหรัฐฯเองก็รู้ถึงแผนการบุก Midway อยู่แล้ว
            การบุก Midway ครั้งนี้ญี่ปุ่นนำทัพโดยนายพลยามาโมโต มีทัพหน้านำโดยนายพลนากูโม ซึ่งเป็นแม่ทัพบุก Pearl Harbor มีเรือบรรทุกเครื่องบินถึง 4 ลำคือ เรือคากะ,โชโฮ,ฮิริว และโชริว พร้อมด้วยเรือประจัญบานอีก 2 ลำ เรือลาดตระเวน 2 ลำ และเรือพิฆาตอีก 12 ลำ นอกจากนี้ยังมีกองเรือลวงที่ประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน และกองเรือต่างๆอีกด้วย แต่สิ่งที่นายพลยามาโตยังคงกังวลก็คือแม้จะถึงวันบุก Midway แล้ว แต่ญี่ปุ่นยังไม่รู้เลยว่ากองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯอยู่ที่ไหน

            ด้านกองทัพสหรัฐฯ นำทัพโดยนายพลเรือ Chester Nimitz ผู้บัญชาการกองทัพเรือสหรัฐฯ พล.ร.อ.Frank Jack Fletcher พล.ร.อ. Raymond A. Spruance อย่างไรก็ตามกองกำลังที่ป้องกัน Midway นั้นมีเพียงเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ กองเรือจำนวนหนึ่ง เครื่องบินและฐานปืนต่อสู้อากาศยานบนเกาะ Midway เท่านั้น เพราะเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 2 ลำ และกองเรืออีกส่วนอยู่นอก Midway แล้ว ทำให้กำลังในการป้องกัน Midway จากการบุกระลอกแรกนั้นสหรัฐฯมีกำลังเพียง 1 ต่อ 4 เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น แถมนักบินของกองทัพสหรัฐฯยังด้อยประสบการณ์กว่ามาก

            แต่ด้วยข่าวกรองที่เหนือกว่า และญี่ปุ่นเองไม่คิดว่าสหรัฐฯจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินถึง 2 ลำที่กำลังรอจังหวะเข้าโจมตี ทำให้กองเรือญี่ปุ่นตกเป็นเป้านิ่งในช่วงสับเปลี่ยนกำลังเพื่อเข้าโจมตี Midway ระลอกที่สอง อีกทั้งการรายงานภาคสนามที่ผิดพลาดของญี่ปุ่นเองว่าสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯได้ 1 ลำ ทั้งที่เพียงแค่ได้รับความเสียหายอย่างหนักเท่านั้น สุดท้ายหายนะจึงเกิดกับกองทัพญี่ปุ่น การรบที่ Midway นั้นเกิดขึ้นเพียง 4 วัน คือวันที่ 4-7 มิถุนายน 1942 แต่ญี่ปุ่นก็ต้องพ่ายแพ้และเสียหายอย่างหนัก

            โดยผลจากยุทธนาวีที่ Midway นั้นกองทัพสหรัฐฯสามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้อย่างเด็ดขาด ฝ่ายญี่ปุ่นต้องสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำที่ใช้บุก Midway เครื่องบิน 248 ลำ พร้อมนักบินฝีมือเยี่ยม ทหารตาย 3,057 คน แม้แต่นายพลนากูโม ก็ยังบาดเจ็บสาหัสจนต้องออกจากการรบและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ เรือพิฆาต 1 ลำ เครื่องบิน 150 ลำ และทหารเพียง 307 คน


            การพ่ายแพ้ที่ Midway ทำให้กองทัพเรือญี่ปุ่นสูญเสียกำลังหลักของกองทัพเรือไป โดยไม่มีความสามารถในการสร้างอาวุธและกำลังทหารมาทดแทน ต่างจากสหรัฐฯที่ยังมีเรือบรรทุกเครื่องบิน และอาวุธจำนวนมากที่ถูกผลิตขึ้นทดแทนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว การบุกยึดออสเตรเลียของญี่ปุ่นเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป การรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องหยุดชะงัก ถูกผลักดันกลับจากการสูญเสียอำนาจทางทะเล และนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รำลึก 72 ปี D-Day

ประเดิมเรื่องแรกพร้อมกับการเปิดเพจในวันที่ 6 มิถุนายน ซึ่งเมื่อ 72 ปีที่แล้วถือเป็นวันที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์โลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 หรือ พ.ศ. 2487 คือวันแรกของปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่ใหญ่ที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งถือว่าเป็นการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้ชื่อปฏิบัติการ Overlord และวันที่ 6 มิถุนายน 1944 คือวันแรกของปฏิบัติการดังกล่าว หรือนิยมเรียกกันว่า D-Day

            ปฏิบัติการ Overlord ก็คือปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรในการบุกเข้ายึดยุโรปตะวันตกซึ่งถูกกองทัพนาซีเยอรมันยึดครอง โดยการส่งกองกำลังทหารของสัมพันธมิตรข้ามช่องแคบอังกฤษขึ้นฝั่งที่นอร์ม็องดี(Normandy) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การบุกยึดคืนพื้นที่ครอบครองของนาซีเยอรมันในยุโรปตะวันตกทั้งหมด จนกระทั่งเยอรมันต้องยอมแพ้ในเวลาต่อมา

            โดยก่อนหน้าที่จะมีปฏิบัติการ Overlord ประมาณ 1 ปี ฝ่ายสัมพันธมิตรได้วางแผนที่จะตอบโต้ และยึดคืนพื้นที่ยุโรปจากนาซีเยอรมัน ภายใต้แผนปฏิบัติการ Bodyguard ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ใช้ป้องกันแผนปฏิบัติการ Overlord รั่วไหลนั่นเอง  ทั้งนี้ฝ่ายเยอรมันนั้นรู้ดีว่าสัมพันธมิตรจะต้องบุกเข้าสู่ยุโรปตะวันตกในพื้นที่ฝรั่งเศสอย่างแน่นอน แต่ความแน่ชัดของพื้นที่หลักในการบุกนั้นเป็นความลับมาโดยตลอด และถือเป็นผลสำเร็จของปฏิบัติการ Bodyguard ที่ทำให้เยอรมันไม่สามารถรับมือการบุกในวัน D-Day ที่นอร์ม็องดีได้ทัน
            การยกพลขึ้นบกในวัน D-Day ที่เมืองนอร์ม็องดีนั้น ใช้กำลังทหารจากชาติสัมพันธมิตรถึง 156,000 คน โดยใช้กำลังทหารหลักๆจากประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และชาติในยุโรปอีกจำนวนมาก ผู้นำในการบุกนอร์ม็องดีนั้น ได้แก่ พล.อ.Dwight D. Eisenhower จอมพลBernard Montgomery และพล.อ.Omar Bradley การยกพลขึ้นบกครั้งนี้ ใช้การส่งกำลัง 2 แบบคือทางเรือ และการกระโดดร่ม

            ฝ่ายเยอรมันเองก็มีการตั้งรับที่นอร์ม็องดีด้วยกำลังทหารมากกว่า 50,000 นาย พร้อมปืนใหญ่ ปืนกล จรวดและระเบิดจำนวนมากบริเวณชายฝั่ง
            ผลของการรบในวัน D-Day ปรากฏว่าฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ สามารถยึดหัวหาดในนอร์ม็องดีได้ถึง 5 แห่ง ได้แก่ Omaha, Utah, Gold, Juno และ Sword Beach ทั้งนี้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในวัน D-Day เพียงวันเดียวสำหรับทั้ง 2 ฝ่ายถือว่ามหาศาลมาก โดยฝ่ายสัมพันธมิตรสูญเสียชีวิตทหารในวัน D-Day มากถึง 4,414 คน บาดเจ็บมากกว่า 10,000 คน ด้านเยอรมันก็สูญเสียทหารไม่ต่ำกว่า 4,000 คนเช่นกัน


            อย่างไรก็ตามวัน D-Day นั้นเป็นเพียงวันแรกของปฏิบัติการ Overlord เท่านั้น แต่การรบทั้งหมดยังยาวนานต่อไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 1944 ที่กองทัพเยอรมันถอยทัพออกจากเขตแม่น้ำ Seine ในฝรั่งเศส ซึ่งถือว่าปารีสได้รับอิสรภาพนั่นเอง